Wednesday, May 23, 2012

ประเภทของการวิจัยในชั้นเรียน

ประเภทของการวิจัยในชั้นเรียน
          การวิจัยในชั้นเรียนมักพบว่า ใช้การวิจัยเชิงบรรยายและวิจัยเชิงทดลอง รายละเอียดเป็นดังนี้
          1.  การวิจัยเชิงบรรยาย   เป็นการศึกษาค้นคว้าในลักษณะต่อไปนี้ 1) ศึกษารวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ค้นหาข้อเท็จจริงต่างๆ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว 2) ไม่มีการสร้างสถานการณ์ใดๆ 3) ไม่มีการกำหนดตัวแปรอิสระและตัวแปรตามใดๆ
              1)  ลักษณะของปัญหาหรือเรื่องที่เหมาะสมสำหรับการวิจัยเชิงบรรยาย เป็นดังนี้
                   (1)  ลักษณะเป็นความสัมพันธ์ในปัจจุบัน
                   (2)  เป็นสิ่งที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ
                   (3)  ความเชื่อ แนวคิด หรือทัศนคติ
                   (4)  กระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่
                   (5)  เป็นการทำนายลักษณะของผลที่จะเกิดขึ้น
                   (6)  แนวโน้มหรือความเปลี่ยนแปลที่กำลังพัฒนาอยู่
              2)  ประเภทของการวิจัยเชิงบรรยาย
                   ประเภทของการวิจัยเชิงบรรยายและตัวอย่างของการวิจัยเชิงบรรยายแต่ละประเภท ปรากฏดังแผนภาพต่อไปนี้



          สำหรับการวิจัยในชั้นเรียนแบบการสำรวจ เป็นแบบที่ควรใช้อย่างมาก ก่อนที่จะทำการวิจัยเชิงทดลอง เพราะการวิจัยแบบสำรวจจะทำให้ผู้วิจัยได้รู้จักเด็ก รู้จักนักเรียนอย่างแท้จริง รู้ปัญหาของการเรียนการสอนที่แท้จริง รู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ทำให้รู้ว่ามีนักเรียนจำนวนเท่าใดที่เป็นปัญหา มีปัญหาเรื่องใด เพื่อครูจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและแก้ปัญหากับกลุ่มนักเรียนที่เป็น ปัญหาจริงๆ เมื่อครูวิจัยในชั้นเรียนรู้จักเด็กอย่างดีแล้ว ครูจึงต้องคิดต่อไปว่า จะแก้ไขอย่างไร แล้วจึงลงมือแก้ไข ซึ่งเป็นการวิจัยในชั้นเรียนเชิงทดลอง
          2.  การวิจัยเชิงทดลอง  เป็นการศึกษาโดยจงใจ เปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งของสถานการณ์ที่ทำอยู่ สร้างสถานการณ์ขึ้นเอง เพื่อศึกษาผลการเปลี่ยนแปลง การวิจัยในชั้นเรียนก็คือทดลองใช้นวัตกรรมการศึกษาที่สร้างขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในห้อง ตัวอย่างเช่น "ผลของการสอนโดยวิธีเกมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยและความพอใจต่อการ เรียนการสอนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/2 โรงเรียนปิยะวิทยาคม" จากตัวอย่างผู้สอนจงใจเปลี่ยนแปลงวิธีสอนจากแบบเดิมมาเป็นสอนด้วยวิธีเกม เพื่อศึกษาว่าจะเกิดอะไรขึ้น คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยและความพอใจต่อการเรียนการสอนของนัก เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/2 จะเป็นอย่างไร

เครื่องมือวิจัยในชั้นเรียน
           1.  เครื่องมือทดลอง  คือ  นวัตกรรมการเรียนรู้ ที่ใช้ในการแก้ปัญหา หรือใช้ทดลองเพื่อแก้ไขปัญหาการเรียนการสอน อาทิเช่น การใช้วิธีการสอน เทคนิคการสอน รูปแบบการสอน กิจกรรมการเรียนการสอน รวมทั้งแบบฝึกหัด ซึ่งครูนักวิจัยจะใช้นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ข้างต้นเพื่อแก้ปัญหานั้น จะต้องมีการวางแปนการสอนเพื่อแก้ปัญหาโดยการเขียนแผนการสอน ดังนั้นแผนการสอนเป็นเครื่องมือทดลองนั่นเอง
           2.  เครื่องมือรวบรวมข้อมูล  เครื่องมือรวบรวมข้อมูลเพื่อตอบปัญหาการวิจัย เช่น ตอบคำถามวิจัยเรื่องสภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา ผลการนำนวัตกรรมไปทดลองแก้ไข เป็นต้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือวัดเป็นเครื่องช่วยในการรวบรวมข้อมูล เครื่องมือวัดมีหลายประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะการใช้ต่างกัน ขึ้นอยู่กับข้อมูลหรือตัวแปรที่ต้องการศึกษา เช่น
               2.1   แบบสอบถาม  ช่วยให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับ
                      (1)  ความคิดเห็น
                      (2)  ความจริง
                      (3)  ความรู้สึก เป็นต้น
               2.2  แบบสังเกต  ช่วยให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับ
                      (1)  พฤติกรรมต่างๆ
                      (2)  ลักษณะการปฏิบัติ
                      (3)  สภาพแวดล้อม
                      (4)  บรรยากาศการเรียนการสอนทางกายภาพ
                      (5)  บรรยากาศการเรียนการสอนทางจิตใจ
                      (6)  ทักษะต่างๆ แบบสังเกตมี 2 ประเภท คือ
                            ก.  แบบมีโครงสร้าง
                            ข.  แบบไม่มีโครงสร้าง
               2.3   แบบสังเกต  ช่วยให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับ
                      (1)  ระดับสติปัญญา
                      (2)  เจตคติ
                      (3)  ความรู้สึก
                      (4)  ความสนใจ
                      (5)  ความรับผิดชอบ
                      (6)  นิสัย เป็นต้น
               2.4  แบบสำรวจรายการ  ช่วยให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลประเภทสถิติ พัสดุ วัสดุ สื่อ หนังสือ อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนต่างๆ ที่สามารถตรวจสอบได้
               2.5  แบบสัมภาษณ์ ช่วยให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับ
                      (1)  ความจริง
                      (2)  ความคิดเห็น ปัญหา สาเหตุ ข้อเสนอแนะ
                      (3)  ความรู้สึก
                      (4)  เจตคติ แบบสัมภาษณ์ มี 2 ประเภท คือ
                            ก.  แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง
                            ข.  แบบสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง
               2.6  แบบทดสอบ  ช่วยให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการเรียนรู้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านวิชาการ แบบทดสอบมีหลายประเภท เช่น
                      (1)  แบบเลือกตอบ
                      (2)  แบบถูกผิด
                      (3)  แบบจับคู่
                      (4)  แบบเติมคำ
                      (5)  แบบอัตนัย   
ที่มา : สานปฏิรูป ปีที่ 4 ฉบับที่ 41 สิงหาคม 2544 หน้า 50 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) เรื่อง วิจัยในชั้นเรียน : ทักษะวิชาครูยุคปฏิรูปการศึกษา (ตอนที่ 1) โดย ดร.พิมพันธ์ เดชะคุปต์

No comments:

Post a Comment