Wednesday, May 23, 2012

ประเภทของการวิจัยในชั้นเรียน

ประเภทของการวิจัยในชั้นเรียน
          การวิจัยในชั้นเรียนมักพบว่า ใช้การวิจัยเชิงบรรยายและวิจัยเชิงทดลอง รายละเอียดเป็นดังนี้
          1.  การวิจัยเชิงบรรยาย   เป็นการศึกษาค้นคว้าในลักษณะต่อไปนี้ 1) ศึกษารวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ค้นหาข้อเท็จจริงต่างๆ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว 2) ไม่มีการสร้างสถานการณ์ใดๆ 3) ไม่มีการกำหนดตัวแปรอิสระและตัวแปรตามใดๆ
              1)  ลักษณะของปัญหาหรือเรื่องที่เหมาะสมสำหรับการวิจัยเชิงบรรยาย เป็นดังนี้
                   (1)  ลักษณะเป็นความสัมพันธ์ในปัจจุบัน
                   (2)  เป็นสิ่งที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ
                   (3)  ความเชื่อ แนวคิด หรือทัศนคติ
                   (4)  กระบวนการที่กำลังดำเนินอยู่
                   (5)  เป็นการทำนายลักษณะของผลที่จะเกิดขึ้น
                   (6)  แนวโน้มหรือความเปลี่ยนแปลที่กำลังพัฒนาอยู่
              2)  ประเภทของการวิจัยเชิงบรรยาย
                   ประเภทของการวิจัยเชิงบรรยายและตัวอย่างของการวิจัยเชิงบรรยายแต่ละประเภท ปรากฏดังแผนภาพต่อไปนี้



          สำหรับการวิจัยในชั้นเรียนแบบการสำรวจ เป็นแบบที่ควรใช้อย่างมาก ก่อนที่จะทำการวิจัยเชิงทดลอง เพราะการวิจัยแบบสำรวจจะทำให้ผู้วิจัยได้รู้จักเด็ก รู้จักนักเรียนอย่างแท้จริง รู้ปัญหาของการเรียนการสอนที่แท้จริง รู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ทำให้รู้ว่ามีนักเรียนจำนวนเท่าใดที่เป็นปัญหา มีปัญหาเรื่องใด เพื่อครูจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและแก้ปัญหากับกลุ่มนักเรียนที่เป็น ปัญหาจริงๆ เมื่อครูวิจัยในชั้นเรียนรู้จักเด็กอย่างดีแล้ว ครูจึงต้องคิดต่อไปว่า จะแก้ไขอย่างไร แล้วจึงลงมือแก้ไข ซึ่งเป็นการวิจัยในชั้นเรียนเชิงทดลอง
          2.  การวิจัยเชิงทดลอง  เป็นการศึกษาโดยจงใจ เปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งของสถานการณ์ที่ทำอยู่ สร้างสถานการณ์ขึ้นเอง เพื่อศึกษาผลการเปลี่ยนแปลง การวิจัยในชั้นเรียนก็คือทดลองใช้นวัตกรรมการศึกษาที่สร้างขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในห้อง ตัวอย่างเช่น "ผลของการสอนโดยวิธีเกมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยและความพอใจต่อการ เรียนการสอนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/2 โรงเรียนปิยะวิทยาคม" จากตัวอย่างผู้สอนจงใจเปลี่ยนแปลงวิธีสอนจากแบบเดิมมาเป็นสอนด้วยวิธีเกม เพื่อศึกษาว่าจะเกิดอะไรขึ้น คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยและความพอใจต่อการเรียนการสอนของนัก เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/2 จะเป็นอย่างไร

เครื่องมือวิจัยในชั้นเรียน
           1.  เครื่องมือทดลอง  คือ  นวัตกรรมการเรียนรู้ ที่ใช้ในการแก้ปัญหา หรือใช้ทดลองเพื่อแก้ไขปัญหาการเรียนการสอน อาทิเช่น การใช้วิธีการสอน เทคนิคการสอน รูปแบบการสอน กิจกรรมการเรียนการสอน รวมทั้งแบบฝึกหัด ซึ่งครูนักวิจัยจะใช้นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ข้างต้นเพื่อแก้ปัญหานั้น จะต้องมีการวางแปนการสอนเพื่อแก้ปัญหาโดยการเขียนแผนการสอน ดังนั้นแผนการสอนเป็นเครื่องมือทดลองนั่นเอง
           2.  เครื่องมือรวบรวมข้อมูล  เครื่องมือรวบรวมข้อมูลเพื่อตอบปัญหาการวิจัย เช่น ตอบคำถามวิจัยเรื่องสภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา ผลการนำนวัตกรรมไปทดลองแก้ไข เป็นต้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือวัดเป็นเครื่องช่วยในการรวบรวมข้อมูล เครื่องมือวัดมีหลายประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะการใช้ต่างกัน ขึ้นอยู่กับข้อมูลหรือตัวแปรที่ต้องการศึกษา เช่น
               2.1   แบบสอบถาม  ช่วยให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับ
                      (1)  ความคิดเห็น
                      (2)  ความจริง
                      (3)  ความรู้สึก เป็นต้น
               2.2  แบบสังเกต  ช่วยให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับ
                      (1)  พฤติกรรมต่างๆ
                      (2)  ลักษณะการปฏิบัติ
                      (3)  สภาพแวดล้อม
                      (4)  บรรยากาศการเรียนการสอนทางกายภาพ
                      (5)  บรรยากาศการเรียนการสอนทางจิตใจ
                      (6)  ทักษะต่างๆ แบบสังเกตมี 2 ประเภท คือ
                            ก.  แบบมีโครงสร้าง
                            ข.  แบบไม่มีโครงสร้าง
               2.3   แบบสังเกต  ช่วยให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับ
                      (1)  ระดับสติปัญญา
                      (2)  เจตคติ
                      (3)  ความรู้สึก
                      (4)  ความสนใจ
                      (5)  ความรับผิดชอบ
                      (6)  นิสัย เป็นต้น
               2.4  แบบสำรวจรายการ  ช่วยให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลประเภทสถิติ พัสดุ วัสดุ สื่อ หนังสือ อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนต่างๆ ที่สามารถตรวจสอบได้
               2.5  แบบสัมภาษณ์ ช่วยให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับ
                      (1)  ความจริง
                      (2)  ความคิดเห็น ปัญหา สาเหตุ ข้อเสนอแนะ
                      (3)  ความรู้สึก
                      (4)  เจตคติ แบบสัมภาษณ์ มี 2 ประเภท คือ
                            ก.  แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง
                            ข.  แบบสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง
               2.6  แบบทดสอบ  ช่วยให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการเรียนรู้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านวิชาการ แบบทดสอบมีหลายประเภท เช่น
                      (1)  แบบเลือกตอบ
                      (2)  แบบถูกผิด
                      (3)  แบบจับคู่
                      (4)  แบบเติมคำ
                      (5)  แบบอัตนัย   
ที่มา : สานปฏิรูป ปีที่ 4 ฉบับที่ 41 สิงหาคม 2544 หน้า 50 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) เรื่อง วิจัยในชั้นเรียน : ทักษะวิชาครูยุคปฏิรูปการศึกษา (ตอนที่ 1) โดย ดร.พิมพันธ์ เดชะคุปต์

การวิจัยในชั้นเรียน โดย ดร.รัตนา ศรีเหรัญ



1. บทนำ

                    การเรียนการสอนเป็นกระบวนการหนึ่งของระบบการศึกษา อันเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างครู นักเรียน และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายในห้องเรียน นอกห้องเรียน (ในความหมายของห้องสี่เหลี่ยมที่เป็นส่วนหนึ่งของอาคารเรียน) หรือไม่ใช้ห้องเรียนก็ได้ กระบวนการเรียนการสอนมีองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ ครู นักเรียน หลักสูตร สื่อ - นวัตกรรม วิธีการสอน แบบทดสอบ สภาพบรรยากาศในห้องเรียน กลุ่มเพื่อน ฯลฯ
                    เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่า เป้าหมายเบื้องบนสุดอันเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา คือ "คุณภาพการเรียนของนักเรียน" ครูจึงเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญต่อการทำให้การดำเนินงานการศึกษาเป็นไปตาม เป้าหมาย แต่ปัญหาหนึ่งที่พบ คือ ครูไม่รู้จักนักเรียน ไม่รู้ว่านักเรียนของตนเป็นใคร มีจุดเด่นจุดด้อยในเรื่องใดบ้าง มีศักยภาพมากน้อยเพียงใด ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะ ครูไม่มีการศึกษาปัญหาของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ชัดเจน และเพียงพอในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่ครูเหล่านั้นอยู่กับปัญหาการเรียนการสอนตลอดเวลา แต่มีงานวิจัยที่เกิดจากครู หรือเป็นผลงานของครูด้านการวิจัยทางการศึกษามีน้อยมากที่มีการพิมพ์เผย แพร่ออกมา ที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องจากความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยทางการศึกษาของครูมีน้อย ดังนั้น บทความนี้จึงมีเป้าหมายที่จะให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ครูในด้านรูปแบบ และวิธีการวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Action Research) เพื่อที่ครูจะได้ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียน และหาวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น หรือค้นหา พัฒนาวิธีการเพื่อนำมาใช้พัฒนาการเรียนการสอนต่อไป

2. ความหมายของการวิจัย

                    การวิจัย (Research) เป็นคำที่มีความหมายได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการวิจัย นักวิจัยส่วนใหญ่มักให้ความหมายของการวิจัยไม่ตรงกันแต่มีความสอดคล้องกันใน วิธีการหรือกระบวนการขั้นตอนของการวิจัย ดังตัวอย่างเช่น
                    ตามพระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ ฉบับปัจจุบันได้นิยามความหมายของการวิจัยไว้ว่า การวิจัยหมายถึง การศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบและแผนการเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ทางด้านสังคม ศาสตร์และมนุษยศาสตร์
                    พจน์ สะเพียรชัย ให้ความหมายของการวิจัยไว้ว่า การวิจัย คือ การแก้ปัญหาที่มีระบบแบบแผนเชื่อถือได้
                    เครือวัลย์ ลิ้มปิยะศรีสกุล ให้ความหมายของการวิจัยไว้ว่า การวิจัย หมายถึง กระบวนการแสวงหาความจริงหรือพิสูจน์ความจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ที่ถูก ต้องและเชื่อถือได้ โดยกระบวนการที่ใช้เพื่อการแสวงหาความจริงมีลักษณะสำคัญดังนี้
                    1. ต้องเป็นการแสวงหาหรือพิสูจน์ความจริงที่เป็นข้อเท็จจริง
                    2. ต้องเป็นการกระทำที่มีความมุ่งหมายอย่างแน่นอน ดังนั้น การค้นพบความจริงโดยบังเอิญจึงไม่เป็นการวิจัย
                    3. ต้องดำเนินไปอย่างมีระเบียบแบบแผนที่แน่นอนตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์
                    นงลักษณ์ วิรัชชัย ได้ให้ความหมายของการวิจัยไว้ว่า การวิจัยคือกระบวนการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ธรรมชาติตาม สมมุติฐานที่นิรนัยจากทฤษฎีโดยใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่มีระบบ มีการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ มีการควบคุม และมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน โดยแต่ละขั้นตอนมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันเพื่อนำไปสู่คำตอบของปัญหา วิจัย และผลการวิจัยที่ได้เป็นความรู้ใหม่หรือเป็นผลของการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์และสังคมต่อไป
                    Karl F. Schuessler ได้ให้ความหมายของการวิจัยไว้ว่า การวิจัย คือ กระบวนการในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ความจริง (Reliable Knowledge) เพื่อที่จะนำความรู้ความจริงที่ได้มาช่วยในการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจอย่างมี ประสิทธิภาพ

3. ขั้นตอนของการวิจัย

                    การวิจัยเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรม และการกระทำของมนุษย์ที่เรียกว่า การวิจัยทางด้านพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งวิธีการที่นำมาใช้ในการศึกษาจะมีรูปแบบไม่แตกต่างจากระเบียบวิธีการทาง วิทยาศาสตร์ แต่อาจมีเทคนิคที่แตกต่างกันบ้างในรายละเอียดของขั้นตอน วิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่นำมาใช้เพื่อการแสวงหาความรู้ความจริงของมนุษย์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ขั้นตอน คือ
                    1. ขั้นการกำหนดปัญหา (Problem) เป็นข้อสงสัย ความสนใจใคร่รู้ของผู้วิจัยในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหรือพบเห็น ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น การกำหนดปัญหา หรือหัวข้อปัญหาวิจัยเป็นคนละอย่างกับสภาพของปัญหา กล่าวคือ หัวข้อปัญหาเป็นข้อสรุป หรือความคิดรวบยอดของสภาพปัญหาซึ่งมีลักษณะเป็นข้อความสั้น ๆ ในขณะที่สภาพปัญหามีลักษณะเป็นข้อความบรรยาย หรือพรรณาที่มีความยาวเพื่อแสดงให้เห็นถึงสภาพของปัญหาที่ต้องการศึกษา ดังนั้น สภาพปัญหาจึงต้องมาก่อน มีก่อน หรือเกิดขึ้นก่อนปัญหาวิจัย การกำหนดปัญหา หรือการตั้งชื่อปัญหาวิจัยเป็นขั้นตอนนี้มีความสำคัญต่อการศึกษา หรือการวิจัยเป็นอย่างมาก และเป็นขั้นตอนที่มีความยุ่งยากเป็นอย่างมากเนื่องจากผู้วิจัยมักมีความ สงสัยว่าจะเขียนหัวข้อปัญหา หรือกำหนดปัญหาอย่างไรจึงมีความเหมาะสมที่นำไปศึกษา
                    2. ขั้นการตั้งสมมติฐาน (Hypothesis) เป็นขั้นตอนที่ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาถึงสภาพการเกิดของปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว จึงทำการคาดคะเนคำตอบของปัญหาวิจัยที่ต้องการศึกษาล่วงหน้า โดยการใช้ความรู้ที่ได้ศึกษาค้นคว้า และสติปัญญาอย่างรอบคอบมาเป็นแนวทางในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นแนวทางในการทดลอง หรือศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนั้นโดยตรง อาจเป็นข้อสรุปที่ไม่คงที่แต่อาจมีความจริง และสถานการณ์บางอย่างที่สัมพันธ์กับปรากฏการณ์นั้นอยู่ สมมติฐานที่ตั้งต้องมีความสอดคล้องกับชื่อปัญหาวิจัยและสภาพปัญหาที่ต้องการ ศึกษา
                    3. ขั้นทดลองและเก็บข้อมูล (Experimentation and Data Collection) เป็นขั้นตอนที่ผู้วิจัยทำการศึกษาสิ่งที่เกี่ยวกับหัวข้อปัญหาที่กำหนดไว้ โดยวิธีการทดลอง และทำการจัดเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการทดลองแต่ละครั้งไว้ ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ต้องมีความสัมพันธ์กับหัวข้อปัญหาและสภาพปัญหาที่ผู้ วิจัยกำลังศึกษา ข้อมูลมีความสำคัญต่อผลการวิจัยเป็นอย่างมาก ถ้าข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ไม่ถูกต้อง มีความคาดเคลื่อน ย่อมส่งผลต่อการสรุปผลเพื่อตอบปัญหาวิจัยที่กำหนดไว้
                    4. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) เป็นการนำข้อมูลที่รวบรวมได้จากขั้นตอนที่ 3 มาทำการจัดกลุ่ม หมวดหมู่ ด้วยวิธีการทางสถิติถ้าเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่ประกอบด้วยตัวเลขต่าง ๆ หรืออาจใช้วิธีการอื่น ๆ ในการจัดกระทำข้อมูลเหล่านั้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลไปตอบคำถามวิจัยที่ ผู้วิจัยตั้งขึ้น ข้อพึงระวังในขั้นตอนนี้ คือ ถ้ามีการใช้สถิติในการวิเคราะห์ หรือจัดกระทำข้อมูล ผู้วิจัยจะต้องตระหนักถึงข้อตกลงเบื้องต้นของสถิติต่าง ๆ ที่นำมาวิเคราะห์ข้อมูล ความถูกต้อง ความชัดเจน และความสอดคล้องกับข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้กับตัวแปรที่นำมาศึกษา ซึ่งนักวิจัยมักละเลยหรือไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์เหล่านี้
                    5. ขั้นการสรุปผล (Conclusion) เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการวิจัย ขั้นตอนนี้ผู้วิจัยต้องนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นที่ 4 มาลงสรุปผล ดังนั้น ผลสรุปจะมีความถูกต้องชัดเจนเพียงใดขึ้นอยู่กับผลการวิเคราะห์ข้อมูลเป็น สำคัญ ขั้นตอนนี้จึงเหมือนกับเป็นการตอบคำถามวิจัยที่ถูกตั้งไว้จากขั้นตอนที่ 1
                    จะเห็นว่าขั้นตอนทั้ง 5 ขั้นตอนนี้มีความสัมพันธ์กันเกี่ยวข้องกันทั้งหมด แต่ละขั้นตอนมีความสำคัญไม่มากน้อยกว่ากัน ดังนั้น ผู้วิจัยจะต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ของทุกขั้นตอนอย่างชัดเจน เพราะความถูกต้อง ชัดเจน และความน่าเชื่อถือของงานวิจัยขึ้นอยู่กับขั้นตอนต่าง ๆ ของการวิจัยตามที่นำเสนอมาแล้วข้างต้น

4. การวิจัยในชั้นเรียน คืออะไร ?

                    การวิจัยในชั้นเรียน เป็นรูปแบบหนึ่งของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ซึ่งเป็นการวิจัยที่มุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเป็นครั้ง ๆ ไป หรือเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผลการวิจัยที่ค้นพบนี้ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงกับกลุ่มอื่น ๆ ได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในวงจำกัด หรือเป็นปัญหาเฉพาะที่ เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียนบางอย่างที่ครูต้องการคำตอบมาอธิบายเฉพาะที่ เกิดขึ้นในห้องที่ตนรับผิดชอบอยู่ เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับปัญหาของห้องเรียนอื่น ๆ การศึกษาปัญหาลักษณะนี้ เราเรียกว่า การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Action Research) ซึ่งเป็นรูปแบบของการวิจัยที่ครูกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถนำไปใช้เพื่อการศึกษา และการวิจัยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของห้องเรียน จึงอาจกล่าวได้ว่า การวิจัยในชั้นเรียนเป็นวิธีการวิจัยที่ออกแบบ และพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้ครูสามารถค้นพบว่ามีอะไรเกิดขึ้นในห้องเรียนบ้าง และยังช่วยให้ครูทราบข้อมูลที่จะนำไปใช้เพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนที่จะมี ขึ้นต่อไปในอนาคต โดยเลือกใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงบรรยาย หรือการวิจัยเชิงทดลอง อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นวิธีการศึกษา

5. ข้อแตกต่างระหว่าง Action Research กับ Formal Research

                    เนื่องจากการวิจัยตามรูปแบบ (Formal Research) มีรายละเอียดและรูปแบบที่จะต้องยึดถืออยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดข้อยุงยากและข้อจำกัดในการทำวิจัยเป็นอย่างมากโดยเฉพาะกับผู้ที่ ไม่มีพื้นฐาน หรือความรู้ทางด้านระเบียบวิธีวิจัยที่ดีพอ วิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อยุ่งยากที่เกิดจาก การวิจัยตามรูปแบบและมีความเหมาะสมสำหรับครูในการนำมาใช้ศึกษาเกี่ยวกับสิ่ง ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน มีการลดขั้นตอน และข้อจำกัดที่เป็นของการวิจัยตามรูปแบบลงไป ทำให้ง่ายที่จะทำความเข้าใจ และนำไปใช้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการวิจัยตามรูปแบบกับการวิจัยเชิง ปฏิบัติการ จึงขอเสนอข้อเปรียบเทียบระหว่างการวิจัยเชิงปฏิบัติการกับการวิจัยตามรูปแบบ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

ตาราง 1 ข้อเปรียบเทียบระหว่าง Formal Research กับ Action Research
หัวข้อ
Formal Research
Action Research
1. ผลการวิจัย มีความกว้างขวาง และครอบคลุม อ้างอิงไปใช้กับกลุ่มอื่นได้ เฉพาะที่ เฉพาะเรื่อง ไม่สามารถอ้างอิงไปใช้กับกลุ่มอื่นได้
2. จุดมุ่งหมายของการวิจัย มุ่งศึกษา ค้นหาความรู้เพื่อนำไปใช้กับบุคคล หรือสถาการณ์ทั่วไปไม่เจาะจง มุ่งศึกษา ค้นหาความรู้เพื่อที่นำไปใช้กับบุคคล หรือสถาการณ์เฉพาะที่ใดที่หนึ่ง
3. วิธีการกำหนดปัญหาที่นำมาศึกษา ศึกษาจากปัญหาวิจัยที่ทำมาก่อนหรือปัญหาที่มีมุมมองกว้าง ได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าหรือจากเป้าหมายในขณะนั้น
4. กระบวนการที่ใช้ในการค้นคว้าเอกสารและงานวิจัย ทำอย่างกว้างขวาง ชัดเจน และเป็นแหล่งปฐมภูมิ ค้นคว้าอย่างง่าย ๆ และเป็นแหล่งทุติยภูมิ
5. วิธีการได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่าง ใช้วิธีการสุ่มเลือกโดยใช้วิธีการทางสถิติ และความน่าจะเป็น เป็นนักเรียนในห้องเรียน หรือผู้ทำงานร่วมกัน
6. แผนแบบการวิจัย มีการควบคุมตัวแปรอย่างเข้มงวดและใช้ระยะเวลายาวนาน ตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นบางอย่างออกไป ใช้ระยะเวลาสั้น ไม่เข้มงวดในการควบคุมตัวแปร
7. กระบวนการวัดผล ประเมินผล และมีการวัดก่อนการทดลอง ระหว่างการทดลอง และหลังการทดลอง วัดตามแบบปกติหรือใช้แบบทดสอบมาตรฐาน
8. การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้วิธีการทดสอบนัยสำคัญทางสถิติ หรือวิธีการเชิงคุณภาพ ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการกระทำ เสนอเป็นข้อมูลดิบ และไม่เน้นการทดสอบนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้
9. การประยุกต์ใช้ผลการวิจัย ยึดความสอดคล้องตามทฤษฎี ยึดความสอดคล้องในการปฏิบัติ
10. ระยะเวลาในการศึกษา ใช้ระยะเวลานานเป็นภาคเรียนหรือปีการศึกษา หรือมากกว่านั้น ใช้ระยะเวลาสั้น ๆ ตามหัวข้อหรือประเด็นที่ศึกษา

                    จะเห็นว่า รูปแบบของการวิจัยปฏิบัติการมีความสอดคล้องกับธรรมชาติของการเรียนการสอนและ เหมาะสำหรับครูที่ไม่มีความรู้ในระเบียบวิธีวิจัย เนื่องจากได้ลดกฎเกณฑ์บางอย่างของการวิจัยตามรูปแบบออกไป ทำให้ครูสามารถนำวิธีการวิจัยในชั้นเรียนไปใช้ในการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่ เกิดขึ้นมาแล้ว หรือกำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้ และยังช่วยให้ครูได้ทราบว่า มีอะไรเกิดขึ้นในห้องเรียนของตนบ้าง หรือจะพัฒนาการเรียนการสอน หรือผลการเรียนรู้ของนักเรียนให้ดีขึ้นได้อย่างไร และที่สำคัญ คือ ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัยในชั้นเรียนต้องไม่ยาวนานเกินไป ส่วนมากใช้เป็นสัปดาห์ หรือตามประเด็นของหัวข้อที่ครูต้องการศึกษาในแต่ละครั้ง

6. หลักการและแนวคิดของการวิจัยในชั้นเรียน

                    เนื่องจากการวิจัยในชั้นเรียนเป็นรูปแบบหนึ่งของการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ ใช้เพื่อการศึกษาสภาพที่เกิดขึ้นภายในห้องเรียนโดยมีครูเป็นผู้ดำเนินการ จึงมีหลักการและแนวคิดดังนี้
                    1. เป็นการศึกษาค้นคว้าที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนในห้องเรียน
                    2. เป็นการหาแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร วิธีสอน การจัดกิจกรรม สื่อ แบบฝึก และวิธีการวัดและประเมินผล
                    3. เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนการสอน

7. วัตถุประสงค์ของการวิจัยในชั้นเรียน

                    จากหลักการและแนวคิดของการวิจัยในชั้นเรียน เราสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยในชั้นเรียน ได้ดังนี้
                    1. เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ
                    2. เพื่อพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน
                    3. เพื่อการพัฒนา ปรับปรุงหลักสูตร และนวัตกรรม
                    4. เพื่อพัฒนา ปรับปรุงเทคนิคการวัดและประเมินผล
                    5. เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการสอนของครู - อาจารย์
                    6. เพื่อพัฒนาเทคนิคการเรียนการสอน

8. ลักษณะของการวิจัยในชั้นเรียน

                    การวิจัยในชั้นเรียน เป็นการวิจัยที่เกิดจากการศึกษาโดยครูซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หรือ สถานการณ์ของห้องเรียนในขณะที่ทำกิจกรรมการเรียนการสอนในช่วงระยะเวลาใดเวลา หนึ่ง แล้วทำการเขียนรายงานผลการศึกษาออกมาในรูปแบบของงานวิจัยในชั้นเรียน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งต่อไป ดังนั้น การวิจัยในชั้นเรียนจึงมีลักษณะดังนี้
                    1. เป็นงานวิจัยที่มุ่งค้นหารูปแบบ และวิธีการที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน
                    2. เป็นงานวิจัยที่มุ่งพัฒนาคุณภาพของตัวผู้เรียนและประสิทธิภาพของครูผู้สอน
                    3. เป็นงานวิจัยที่มุ่งศึกษา สำรวจสภาพที่ปรากฏตามความต้องการ ความคิดเห็น และความสนใจของบุคคลในห้องเรียน

9. รูปแบบของการวิจัยในชั้นเรียน

                    กิจกรรมการเรียนการสอนมีองค์ประกอบมากมายที่เข้ามามีส่วนที่ทำให้การเรียน การสอนสามารถดำเนินการได้ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษา การวิจัยในชั้นเรียนจึงมีรูปแบบ หรือแนวทางในการศึกษา ดังนี้
                    1. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการ หรือรูปแบบเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ
                        1.1 การปรับเปลี่ยน และพัฒนาวิธีการสอน
                        1.2 ทดลองสอนด้วยเทคนิค และวิธีการต่าง ๆ
                        1.3 ค้นหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เรียน
                        1.4 การสร้างแบบฝึกทักษะด้านต่าง ๆ ของผู้เรียน
                        1.5 เทคนิค วิธีการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้
                        1.6 หาแนวทางในการแก้ไขข้อบกพร่องของผู้เรียน
                    2. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบของการเรียนการสอน การวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ
                        2.1 ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน
                        2.2 ความรู้เดิมกับพัฒนาการของการเรียนรู้
                        2.3 ปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนของผู้เรียน
                        2.4 คารวิเคราะห์หลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้
                        2.5 ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการวัดประเมินผล
                        2.6 บรรยากาศในห้องเรียนกับผลการเรียนรู้ของนักเรียน
                    3. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะ และรูปแบบของหลักสูตร การวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ
                        3.1 การประเมินหลักสูตร
                        3.2 การติดตามการใช้หลักสูตร
                        3.3 การพัฒนาหลักสูตร
                        3.4 การพัฒนาเทคนิคการวัดและประเมินผล
                        3.5 วิเคราะห์ความเหมาะสมของรายวิชาต่าง ๆ
                    4. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน การวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ
                        4.1 การประเมิน ติดตามการใช้แผนการสอน
                        4.2 การทดลองใช้วิธีการสอนหรือชุดการสอน
                        4.3 การสร้างสื่อ แบบฝึก ชุดการสอน หนังสือ นวัตกรรม
                        4.4 ผลการใช้สื่อ แบบฝึก ชุดการสอน หนังสือ นวัตกรรม
                        4.5 การจัด หรือใช้รูปแบบของกิจกรรมการเรียนการสอน
                        4.6 เจตคติของครู - อาจารย์ นักเรียนที่มีต่อรายวิชาต่าง ๆ
                        4.7 บรรยากาศในห้องเรียน และโรงเรียน
                        4.8 การจัดห้องเรียน และห้องปฏิบัติการต่าง ๆ
                    5. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเทคนิค วิธีการ และรูปแบบของการวัดและประเมินผล การวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ
                        5.1 การสร้างและพัฒนาแบบทดสอบแบบต่าง ๆ
                        5.2 การวิเคราะห์หาคุณภาพของแบบทดสอบ
                        5.3 การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
                        5.4 การหาความสัมพันธ์ของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในรายวิชาต่าง ๆ
                        5.5 การหาปัจจัยที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
                    6. เป็นการศึกษาเกี่ยวกับสื่อ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การวิจัยด้านนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับ
                        6.1 การพัฒนาสื่อการสอน
                        6.2 การหาประสิทธิภาพของสื่อการสอน
                        6.3 การเปรียบเทียบวิธีสอนแบบต่าง ๆ
                        6.4 การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสื่อการสอน
                        6.5 ศึกษาผลการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน
                        6.6 ศึกษาผลการเรียนรู้ที่เกิดจากการใช้นวัตกรรม
                        6.7 ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้สื่อ

10. ขั้นตอนของการวิจัยในชั้นเรียน

                    การวิจัยในชั้นเรียนมีขั้นตอนคล้ายกับการวิจัยตามรูปแบบ เพื่อให้ครูได้ทราบขั้นตอนต่าง ๆ จึงได้แบ่งขั้นตอนของการวิจัยในชั้นเรียนออกเป็น 6 ขั้นตอน ดังนี้
                    1. การศึกษาสภาพปัญหาที่ต้องการศึกษา (Focusing your Inquiry) เป็นขั้นตอนแรกของการวิจัยที่ครูทำความเข้าใจ และศึกษาสภาพของปัญหาที่ต้องการศึกษาว่ามีความเป็นมาอย่างไร และมีความเกี่ยวข้องกับเรื่อง (ตัวแปร) ใดบ้าง วิธีการอาจใช้การประชุมร่วมกันระหว่างครูที่พบปัญหาคล้าย ๆ กัน โดยสภาพปัญหาต้องมีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในห้องเรียน หรืออาจเป็นสภาพของปัญหาตามที่ได้นำเสนอในข้อ 9
                    2. การกำหนดปัญหาวิจัย (Formulating a Question) เป็นการกำหนดหัวข้อของเรื่องที่ต้องการทำวิจัย หรือที่เราเรียกว่า ชื่อวิจัย ซึ่งมีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่ได้ทำการศึกษามาก่อนหน้านี้ ปัญหาวิจัยในชั้นเรียนแต่ละเรื่องไม่ควรใช้ระยะเวลาในการศึกษานานเกินไป โดยทั่วไปมักไม่เกิน 1 ภาคเรียน หรือ1 ปีการศึกษา ปัญหาวิจัยในชั้นเรียนที่ดีจะประกอบด้วยลักษณะที่สำคัญ 3 อย่าง คือ
                        2.1 ต้องเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการเรียนการสอน และนักเรียน ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ครูต้องการแก้ไข ต้องการปรับปรุง หรือประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมการเรียนการสอน
                        2.2 มีความสัมพันธ์กับปัญหาที่ต้องการศึกษา ถ้าครูทำการศึกษาปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีมากกว่าหนึ่งปัญหาแล้ว ทุกปัญหาที่ทำการศึกษาต้องมีความสัมพันธ์กันที่มีลักษณะเป็นชุดวิจัย (Batteries of Research)
                        2.3 เป็นปัญหาที่สามารถหาคำตอบได้ เนื่องจาก ปัญหาวิจัยในชั้นเรียนเป็นปัญหาที่ใช้ข้อมูล ซึ่งรวบรวมได้จากห้องเรียนในการตอบคำถามวิจัย ซึ่งต้องเป็นปัญหาที่ไม่กว้างมากเกินไป เพราะมิฉะนั้นจะหาข้อมูลมาตอบคำถามวิจัยไม่ได้ หรือตอบได้ไม่สมบูรณ์
                    3. ค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Review of literature and resources related to your question) การทำวิจัยในชั้นเรียนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยผลงานการศึกษาค้น คว้าของบุคคลอื่นเป็นแนวทาง จะคิดว่าเราเป็นคนแรกที่คิดทำเป็นคนแรกคงไม่ได้ถึงแม้ว่าปัญหานั้นจะไม่ซ้ำ กับใครหรือยังไม่เคยมีใครศึกษามาก่อนเลยก็ตาม การที่ผู้วิจัยจะนิยามปัญหาวิจัยได้ชัดเจนเพียงใด สามารถทำการวิจัยได้หรือไม่นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องให้มาก ๆ ถ้าพิจารณาดูให้ดีแล้วจะพบความจริงประการหนึ่งว่าปัญหาทุกอย่างเป็นของเดิม ที่มีอยู่ก่อนแล้วทั้งสิ้น การที่เรามองเห็นว่าเป็นปัญหาใหม่เพราะมีการแปลงรูปไปจากเดิมเท่านั้น แหล่งสำคัญที่สุดของการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง คือ ห้องสมุด เพราะห้องสมุดถือว่าเป็นที่รวบรวมของหนังสือ ตำรา และเอกสารต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะห้องสมุดของมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาทั้งหลาย โดยผู้วิจัยสามารถค้นคว้าหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัยจากแหล่งความ รู้ต่อไปนี้
                        3.1 หนังสือ ตำราที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัยที่กำลังศึกษา
                        3.2 สารานุกรมและที่รวบรวมผลงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง
                        3.3 วารสารการวิจัยสาขาต่าง ๆ
                        3.4 ปริญญานิพนธ์ หรือวิทยานิพนธ์ของผู้สำเร็จการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
                        3.5 หนังสือรวบรวมบทคัดย่อปริญญานิพนธ์และวิทยานิพนธ์
                        3.6 หนังสือพิมพ์ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ นิตยสารต่าง ๆ
                        3.7 Dissertation Abstract International (DAI)
                        3.8 ERIC Educational Documents Abstract (ERIC)
                        3.9 ระบบเครือข่ายข้อมูลทาง INTERNET
                    4. การรวบรวมข้อมูล (Collecting relevant data) เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ครูตอบคำถามการวิจัยในชั้นเรียนได้ถูกต้อง ลักษณะของข้อมูลที่ดีต้องมีความสัมพันธ์โดยตรงกับปัญหาวิจัย ข้อมูลที่ใช้สำหรับการวิจัยในชั้นเรียนได้มาจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่ จากแบบบันทึกที่ได้การสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน แบบทดสอบ แบบสอบถาม จากกลุ่มทดลองที่ครูจัดขึ้น ข้อมูลที่รวบรวมได้ต้องอยู่ภายใต้กรอบของปัญหา ประเภทของข้อมูลที่ใช้เพื่อการวิจัยในชั้นเรียนแบ่งออกได้เป็น นามบัญญัติ (Norminal Scale) เรียงลำดับ (Ordinal Scale) อันตรภาคชั้น (Interval Scale) และสัดส่วน (Ratio Scale) ซึ่งอาจอยู่ในรูปของข้อมูลเชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพก็ได้ การรวบรวมข้อมูลครูต้องยึดถือคุณธรรมและจริยธรรมของผู้วิจัย (Ethical Issues) อย่างเข้มงวด ไม่มีความลำเอียง หรืออคติใด ๆ ทั้งสิ้น มิฉะนั้น ผลการศึกษาจะเกิดความผิดพลาดได้ง่าย
                    5. การวิเคราะห์ข้อมูลและการแปลผล (Analyzing and interpreting the data) เป็นขั้นตอนที่ครูทำการประมวลผลข้อมูลที่รวบรวมได้แล้วนำเสนอในรูปของแผน ภูมิ ตารางต่าง ๆ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของข้อมูลดิบก็ได้ รูปแบบของข้อมูลที่นำเสนออาจมีลักษณะเป็นกลุ่ม เป็นรายบุคคล หรือผลการทดสอบนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งประกอบด้วยสถิติพรรณาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิจัยในชั้นเรียน การแปลผลการวิเคราะห์นั้น ครูต้องทำการอ่านผลการวิเคราะห์และทำการแปลผลออกมาเพื่อให้บุคคลอื่นสามารถ ทำความเข้าใจในผลการวิเคราะห์ได้ ในขั้นตอนนี้ไม่ควรแสดงความคิดเห็นใด ๆ ที่ไม่มีหลักการหรือเอกสารการวิจัยรองรับ ควรแปลผลตามผลการวิเคราะห์ที่ได้รับอย่างแท้จริง และไม่ควรมีอคติในการแปลผล แต่ถ้ามีข้อเสนอแนะใด ๆ ครูสามารถเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
                    6. การเขียนรายงานการวิจัย (Reporting Results) เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญต่อการเผยแพร่ผลการศึกษา พิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาด 16 pixels จะเป็น font อะไรก็ได้ แต่ผู้เขียนขอเสนอแนะให้ใช้ font แบบ BrowalliaUPC รายงานการวิจัยในชั้นเรียนมี 3 ส่วน คือ
                         6.1 ส่วนหัว (Heading) เป็นส่วนที่ประกอบด้วย ปก คำนำ สารบัญ สารบัญตาราง (ถ้ามี) บัญชีภาพประกอบ (ถ้ามี)
                         6.2 ส่วนตัวรายงาน (Reporting) ส่วนประกอบของตัวรายงานมี 5 ส่วน ตามขั้นตอนของการวิจัยในชั้นเรียน แต่ละส่วนมีจำนวนหน้า ดังนี้
                                6.2.1 การศึกษาสภาพปัญหาที่ต้องการศึกษา 1 - 2 หน้า
                                6.2.2 การกำหนดปัญหาวิจัย 1 - 2 หน้า
                                6.2.3 ค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 3 - 5 หน้า
                                6.2.4 การรวบรวมข้อมูล 2 - 4 หน้า
                                6.2.5 การวิเคราะห์ข้อมูลและการแปลผล 2 - 4 หน้า จำนวนหน้าของงานวิจัยในชั้นเรียนส่วนนี้ของแต่ละเรื่องรวมแล้วไม่เกิน 17 หน้าแต่ถ้ามีเอกสารหรือรายการใด ๆ ที่ต้องการเพิ่มเติมสามารถใส่ลงไปได้ในส่วนของภาคผนวก
                         6.3 ส่วนท้าย (Tailing) เป็นส่วนที่ประกอบด้วย บรรณานุกรม และภาคผนวก

11. บรรณานุกรม

นงลักษณ์ วิรัชชัย. "การวิเคราะห์ประมาณค่าส่วนประกอบความแปรปรวน ,"
                    ข่าววิจัยการศึกษา. 15(4) : 9 - 14 ; เมษายน - พฤษภาคม 2535.
--------- . ความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงเส้น (LISREL) สถิติวิเคราะห์สำหรับ
                    การวิจัยทางสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์
                    มหาวิทยาลัย , 2537.
--------- . "วิธีวิทยาขั้นสูงด้านการวิจัยและสถิติ ," วารสารวิธีวิทยาการวิจัย. 7(2) :
                    1 - 36 ; กรกฎาคม - ธันวาคม 2538.
บุญเรือง ศรีเหรัญ. การศึกษาองค์ประกอบทางการศึกษาที่สัมพันธ์และมี
                    อิทธิพลต่อผลการเรียนรู้และประสิทธิผลของโรงเรียนโดยใช้รูปแบบ
                    ระดับชั้นลดหลั่นสอดแทรกเชิงเส้น . ปริญญานิพนธ์ กศ. ด. กรุงเทพฯ :
                    มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร , 2542. อัดสำเนา.
ศิริชัย กาญจนวาสี. "มิติใหม่ของการวิจัยทางการศึกษา ," วารสารวิธีวิทยาการ
                    วิจัย. 4(1) : 1 - 8 ; มกราคม - เมษายน 2532.

http://edu-ss10.educ.queensu.ca/~prof191/arguide.htm
http://educ.queensu.ca/~russellt/howteach/arguide.htm
การวิจัยในชั้นเรียน (Classroom Action Research) 12

http://www.iusb.edu/~gmetteta/Classroom_Action_Research.html
http://www.madison.k12.wi.us/sod/car/aris.htm
http://www.heinemann.com/hbbc/43524056.html
http://www.public.iastate.edu/~sbeisser/491xsearcj.html
http://www.aitech.ac.jp/~iteslj/Articles/Snell-Interaction.html
http://archon.educ.kent.edu/Oasis/Pubs/0200-08.htm
 
ที่มาบทความ: http://www.moe.go.th/webtcs/Hom/Paper/Article/ratana/ratana02/ratana02.htm